ขอบคุณภาพจาก Tech Wire Asia
26/10/2024
อินโดนีเซียกลายเป็นจุดหมายปลายทางหลักสำหรับการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) ในอาเซียน เนื่องจากต้นทุนราคาค่าไฟฟ้าที่ต่ำ รวมถึงนโยบายและกฎระเบียบที่สนับสนุน โดยอินโดนีเซียถูกมองว่ามีศักยภาพในการเป็นศูนย์ข้อมูลและส่งเสริมการใช้งาน AI แม้ว่าโครงสร้างพื้นฐาน AI พื้นฐานจะเป็นที่คาดการณ์ว่า จะยังคงกระจุกตัวอยู่ในศูนย์กลางเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น เช่น สหรัฐฯ และจีน
“ฉันเชื่อว่าในแง่ของการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้เล่นเกมนี้แน่นอน เหตุผลที่มาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นจุดศูนย์กลางสำหรับการลงทุนก็เพราะว่าในเอเชียทั้งสองประเทศมีต้นทุนไฟฟ้าต่ำที่สุด” เอสเธอร์ หว่อง ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทเงินทุนเสี่ยง 3Cap กล่าวในการอภิปรายกลุ่มในงานประชุม Tech in Asia ที่จัดขึ้นในกรุงจาการ์ตา ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา
นอกเหนือจากพลังงานราคาไม่แพงแล้ว หว่องยังเน้นย้ำว่าอินโดนีเซียยังน่าดึงดูดใจด้วย “ท่าทีที่เป็นมิตรอย่างยิ่ง” ต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ด้วยแนวชายฝั่งที่กว้างใหญ่ ทำให้ประเทศมีศักยภาพในการจัดหาพลังงานที่ยั่งยืนจากแหล่งต่างๆ เช่น พลังงานน้ำขึ้นน้ำลง (Tidal Power) ซึ่งหว่องชี้ให้เห็นว่า สามารถช่วยลดภาระด้านพลังงานของศูนย์ข้อมูล AI ได้
ตั้งแต่ปีที่แล้ว (2023) ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีได้ทุ่มเงินลงทุนในภูมิภาคนี้มากกว่า 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามข้อมูล Tech in Asia ณ เดือนกรกฎาคม (2024) รวมถึงการลงทุนล่าสุดโดย Oracle ในมาเลเซีย แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีเพียง 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้นที่ตกไปอยู่ในมือของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ AI ในอินโดนีเซีย โดย 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาจาก Microsoft และ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาจาก Nvidia
ส่วนความสามารถในการจัดหาพลังงานต้นทุนต่ำสำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT เช่น ศูนย์ข้อมูล ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนา AI และสำหรับการเรียกใช้แอปพลิเคชันที่ใช้ AI จากการที่ศูนย์ข้อมูลใช้พลังงานจำนวนมากสำหรับการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูล รวมถึงระบบระบายความร้อน โดยแอปพลิเคชัน AI นั้นมีความต้องการเป็นพิเศษในแง่ของทรัพยากรคอมพิวเตอร์และพลังงาน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ อุตสาหกรรมศูนย์ข้อมูลเคยกล่าวไว้ว่า ราคาไฟฟ้าของอินโดนีเซียซึ่งอยู่ระหว่าง 11 ถึง 12 เซ็นต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ไม่สามารถแข่งขันได้ เมื่อเทียบกับอัตราค่าไฟฟ้าของมาเลเซียที่ต่ำกว่าที่ 8 เซ็นต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง
แม้ว่าภูมิภาคนี้จะมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโซลูชันซอฟต์แวร์ AI ที่ใช้งานได้จริงมากกว่าโมเดล AI พื้นฐาน เช่นที่สร้างขึ้นในสหรัฐฯ และจีน
เวสลีย์ เทย์ ผู้บริหารบริษัทการลงทุน East Ventures แสดงความมั่นใจในความสามารถของภูมิภาคในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าด้าน AI โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับแอปพลิเคชัน หลังบริษัทสตาร์ทอัพในภูมิภาคกำลังนำโมเดลโอเพนซอร์สและโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) มาใช้มากขึ้นเพื่อสร้างโซลูชันที่เหมาะกับความต้องการในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคซอฟต์แวร์แบบบริการ (SaaS)
“แอปพลิเคชันเหล่านี้จะต้องอาศัยความสามารถในการรวบรวมข้อมูลที่จำเป็น เพื่อฝึกอบรมข้อมูลบริบทบนโมเดลโอเพนซอร์สหรือโมเดลปิด” เทย์กล่าว โดยเน้นย้ำถึงบทบาทของข้อมูลในการสร้างความแตกต่างให้กับโซลูชัน AI ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะที่ Zia Zaman ผู้จัดการทั่วไปของ Microsoft Ventures ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เห็นด้วยกับมุมมองนี้ โดยระบุว่าการพัฒนา AI ในภูมิภาคนี้ มีแนวโน้มจะเน้นที่ความสมจริงมากกว่าและเน้นที่ความสามารถในการทำกำไรมากกว่าการวิจัย พร้อมย้ำถึงความสำคัญของการมองไกลกว่าแอปพลิเคชันที่มุ่งเน้นไปที่ผู้บริโภค โดยมองว่า AI จะช่วยให้ธุรกิจดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร เพราะนั่น “จะเป็นเรื่องที่ทำได้จริง จะสร้างผลกำไรได้เร็วขึ้น และน่าจะทำให้ [ธุรกิจต่อธุรกิจ] ง่ายขึ้น”
IMCT News
ที่มา https://asianews.network/investors-eye-indonesia-for-ai-amid-low-energy-costs-favourable-policies/