.

วัฏจักรหนี้ถึงจุดเปราะบาง อังกฤษ-สหรัฐ-ฝรั่งเศส เผชิญวิกฤตหนี้เรื้อรัง ศก.ตะวันตก เสี่ยงล่มสลายคล้ายแชร์ลูกโซ่-นักลงทุนเมินพันธบัตร
28-7-2025
Reuters Breakingviews โดย Edward Chancellor วิเคราะห์ว่า วงจรหนี้ขนาดใหญ่ (Debt Supercycle) เข้าสู่ช่วงสุดท้าย จากสถานการณ์การคลังของประเทศพัฒนาแล้วขนาดใหญ่ทั้งอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ขณะนี้สังคมเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญปรากฏการณ์ที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “มหาวัฏจักรหนี้” (debt supercycle) กำลังเข้าสู่ช่วงสุดท้าย โดยรัฐบาลหลายประเทศเดินหน้ากู้เงินและออกตราสารหนี้ใหม่ซ้อนทับเดิมในปริมาณที่สูงผิดปกติ ขาดวินัยด้านการคลัง ขณะที่เจ้าหนี้และนักลงทุนเริ่มตั้งคำถามถึงความมั่นคงและอนาคตของระบบนี้ ซึ่งใกล้เคียงกับโครงสร้างทางการเงินรูปแบบพีระมิด (Ponzi) ตามคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญ
กรณีอังกฤษถือเป็นตัวอย่างเด่น พระราชวัง Westminster ซึ่งเป็นสัญลักษณ์รัฐสภาแห่งอังกฤษเสื่อมโทรมลงโดยไม่มีการแก้ไขจริงจัง ทั้งที่คณะกรรมาธิการบัญชีสาธารณะของรัฐสภาเคยเตือนชัดว่าการปล่อยให้ซ่อมแซมนานขึ้นเรื่อย ๆ มีแต่จะเพิ่มต้นทุนในอนาคต ทั้งๆ ที่ปัญหาการเงินการคลังก็หนักหน่วงไม่ต่างกันนับแต่ช่วงวิกฤตโควิด รัฐบาลอังกฤษต้องเพิ่มการกู้ยืมจนหนี้สาธารณะเข้าใกล้ 100% ของ GDP และขาดดุลงบประมาณมากกว่า 5% ต่อปี ล่าสุดการกู้ยืมรายเดือนทะลุ 21,000 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นสถิติใหม่ ขณะที่ข้อเสนอรัดเข็มขัดที่รัฐบาลพยายามผลักดัน เช่น การตัดเงินสนับสนุนค่าเชื้อเพลิงฤดูหนาวสำหรับผู้เกษียณที่มั่งคั่ง ก็ถูกแรงต่อต้านทางการเมืองกลับลำอย่างรวดเร็ว
อังกฤษไม่ได้เผชิญสถานการณ์นี้เพียงลำพัง ฝรั่งเศสมีหนี้สาธารณะสูงถึง 112% ของ GDP และขาดดุลทางการคลัง 5.7% สหรัฐฯ ก็มีหนี้ท่วม 121% ของ GDP และขาดดุลกว่า 7% รายงานของ IMF ใน Fiscal Monitor ล่าสุด เตือนว่าหากไม่มีการแก้ไขแนวทางการคลังระดับโครงสร้าง หนี้สาธารณะของหลายประเทศจะพุ่งเกิน 270% ของผลผลิตภายในประเทศใน 50 ปีข้างหน้า
แต่แม้จะรู้วิธีแก้ เช่น การขึ้นภาษี ตัดรายจ่ายรัฐ หรือเร่งขยายฐานเศรษฐกิจ มาตรการที่ใช้จริงกลับเป็นเพียง “การเยียวยาระยะสั้น” แบบชั่วคราว เนื่องจากแรงต้านทั้งทางสังคมและการเมือง เช่น ในฝรั่งเศสแผนลดขาดดุลล่าสุดก็เสนอแค่ “เลิกวันหยุดประจำชาติ 2 วัน” ซึ่งถูกต่อต้านทั้งฝ่ายซ้ายและขวา ในสหรัฐฯ แม้ฝ่ายบริหารจะพยายามตั้งกระทรวงเพิ่มประสิทธิภาพ แต่การออกกฎหมายขยายรายจ่ายอย่าง One Big Beautiful Bill Act ก็ทำให้งบดุลการคลังทรุดหนักขึ้นกว่าที่ Congressional Budget Office คาดการณ์ไว้อีก 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ในทศวรรษข้างหน้า
รากลึกของปัญหา ดูจะอยู่ที่โครงสร้างวัฒนธรรมการเมืองและค่านิยมสังคมที่ "ติดกับดัก" ความเคยชิน นักประวัติศาสตร์อย่างนีล ฮาว (Neil Howe) ชี้ว่าสังคมมนุษย์เคลื่อนที่เป็นวัฏจักรสี่รุ่น ยุคแรกเริ่มต้นด้วยความแข็งแกร่ง แนวคิดสร้างสรรค์และใฝ่ดี ยุคสองสังคมเริ่มตั้งคำถามกับระเบียบเก่า ยุคสามเศรษฐกิจ สถาบัน และกติกาเริ่มเสื่อมถอย แกนความเชื่อมั่นแตกกระจายจนในที่สุด (ยุคสี่) วิกฤตครั้งใหญ่จึงมาถึง เพื่อรีเซ็ตสร้างระเบียบใหม่ ทฤษฎีนี้สอดรับกับต้นธารคิดของอิบนุ คอลดูน (Ibn Khaldun) ที่ตั้งข้อสังเกตว่าพลังร่วมของชนชั้นผู้ก่อตั้งจะสลายไป ชนชั้นนำมักอุดหนุนตนเอง กฎหมายถูกละเมิดและระบบล่มในเวลาต่อมา
ในแง่โครงสร้างเศรษฐกิจและการเงิน นักลงทุนชื่อดังอย่างเรย์ ดาลิโอ (Ray Dalio) เจ้าของ “Big Debt Cycle” เสริมว่าแต่ละช่วงวัฏจักรหนี้กินเวลาเฉลี่ย 80 ปี ต้นวัฏจักรรัฐมีเงินตราที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง ต่อมาภาครัฐและเอกชนเข้าถึงสินเชื่อจนสังคมกู้หนี้เกินตัว พอเกิดปัญหารัฐบาลเข้าแทรกแซงและหนี้รวมยิ่งสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนปลายวัฏจักรหนี้ รัฐยังประคับประคองฐานะการเงินด้วยการออกพันธบัตรใหม่เพื่อจับจ่ายคืนหนี้เก่า สังคมจึงติดวังวนพีระมิดหนี้ถาวร ไม่สามารถตั้งอัตราดอกเบี้ยให้สมดุลระหว่างผู้กู้และเจ้าหนี้ ทุกการขึ้นดอกเบี้ยกลับสร้างภาระจ่ายดอกใหม่ที่สูงกว่าเดิม วงจรนี้เดินถึงปลายสุดเหมือนกับภาพที่อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ ประสบอยู่
ในแง่นโยบายการลงทุน Dalio ชี้ว่าการถือครองพันธบัตรรัฐบาลในวัฏจักรนี้อาจเสี่ยงสูง ทุกวิกฤตการณ์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางมักต้องเข้าช่วยรัฐบาล ส่งผลให้ค่าเงินเฟ้อสูงขึ้น และเงินอ่อนค่าทางปฏิบัติ สินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่าในสถานการณ์นี้คือ “ของจริง” เช่น ทองคำ ซึ่งย้อนหลังผลงานเหนือกว่าพันธบัตรเฉลี่ยถึง 71% ในช่วงวิกฤต ขณะที่หุ้นอาจร่วงแรงแต่มีศักยภาพฟื้นตัวหลังปัญหาคลายตัว
เสียงสะท้อนจาก Howe ว่า “ประวัติศาสตร์เป็นฤดูกาล ฤดูหนาวมาถึงแล้ว” ตอกย้ำว่าสัญญาณเตือนระบบเดิมใกล้ถึงจุดเปลี่ยนสุดขีด Dalio ประเมินว่าวิกฤตหนี้จริง ๆ แม้ยังไม่เกิดทันที แต่มีโอกาสเกิดภายในทศวรรษหน้า และกลุ่มผู้ถือตราสารหนี้ควรเตรียมตนให้พร้อม ข้อสังเกตสำคัญคือ ฟันเฟืองทางออกจะเกิดขึ้นจริงเมื่อนักการเมืองรุ่นใหม่มีความกล้าพอจะ “บูรณะระบบรัฐสภาและสถาบัน” อย่างจริงจัง แทนการประวิงเวลาหรือปะซ่อมชั่วคราวแบบเดิม
ณ จุดเปลี่ยนผ่านนี้ มาตรการรัดเข็มขัด-วินัยการคลังแบบ “ข้ามชั่วอายุคน” เท่านั้นจะแก้ไขฐานปัญหาแท้จริงได้ – หากสังคมกล้ายอมรับความจริงและลงมือทำ เหตุการณ์ต่อจากนี้จึงเป็นบททดสอบว่าระบบประชาธิปไตยตะวันตกจะผ่าน “ฤดูหนาววัฏจักรหนี้” นี้ได้อย่างไร
----
IMCT NEWS
ที่มา https://www.reuters.com/commentary/breakingviews/debt-supercycle-has-reached-its-final-leg-2025-07-25/