18/10/2024
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า ความขัดแย้งระหว่างภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มต้นขึ้นช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นที่จับตามองของทั่วโลกในการเป็นจุดหมายการเคลื่อนย้ายฐานทุนมาสู่ “พื้นที่ปลอดภัย”
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์และดึงดูดหลายบริษัทยักษ์ใหญ่จากทั่วโลกให้ตัดสินใจเข้ามาปักหลักลงทุนแล้ว โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมได้มากจนไม่พอรองรับดีมานด์ที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์พิเศษรายการ “กรุงเทพธุรกิจ Deeptalk” ว่า EEC มีเม็ดเงินมหาศาลจากภาครัฐและเอกชนที่ลงไปเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าแหลมฉบัง ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ถนนมอเตอร์เวย์ และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่เดินหน้าต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาให้พื้นที่ 3 จังหวัด ใน EEC ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ และขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ความต้องการพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรมใน EEC ที่เพิ่มขึ้นทำให้ปัจจุบันพบข้อจำกัดของการจัดทำพื้นที่เพื่อประกอบการอุตสาหกรรมที่เหลือน้อยลงและทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้น
รวมทั้งตามแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ผัง EEC) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค.2562 ซึ่งมีการแบ่งกลุ่มพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม (สีม่วง) อยู่ที่ 424,854 ไร่คิดเป็นพื้นที่ 5.12% ของพื้นที่ทั้งหมด 8.29 ล้านไร่
ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง ในการเปิดพื้นที่ “สีเหลือง” ตามแผนผัง EEC ซึ่งเป็นที่ดินประเภทชุมชนชนบท โดยเป็นพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจชุมชนรวมพื้นที่ 2.07 ล้านไร่ ในการแบ่งบางส่วนมากำหนดลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ที่สามารถใช้เพื่อการตั้งนิคมอุตสาหกรรมได้
“เบื้องต้นผมได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พิจารณาประเด็นผังเมือง ระบุเขตที่ดินที่สามารถกำหนดเป็นพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมได้ ภายใต้กฎหมายของ กนอ.ซึ่งเป็นพื้นที่สีเหลืองตามแผนผัง EEC จากนั้นจะนำแผนผังดังกล่าวหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับตั้งนิคมอุตสาหกรรม โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้"
เปิดพื้นที่ SME ไทยเชื่อมซัพพลายเชนโลก
นายเอกนัฏ กล่าวว่า การเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมจะเป็นข้อต่อรองที่รัฐบาลเสนอให้กับเอกชนผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม แลกกับการเปิดพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมให้ผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะ เพื่อเตรียมพร้อมในการรับช่วงการผลิตของบริษัทขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตไทยได้ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันและพร้อมเชื่อมโยงเข้าสู่ซัพพลายเชนระดับโลก
“อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เข้ามาลงทุนในไทยต้องการ Local Content หรือชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ ซึ่งการเปิดพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมให้สำหรับส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางโดยเฉพาะก็เพื่อให้กลุุ่มที่มีศักยภาพพร้อมจะขายของให้กับบริษัทขนาดใหญ่ ได้มีพื้นที่ตรงนี้ในการเช่าใช้ในราคาถูก รวมทั้งได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐและเอกชน”
นอกจากนี้ การกำหนดพื้นที่ที่ส่งเสริมชัดเจนในเขตนิคมอุตสาหกรรมจะทำให้สามารถกำกับ และควมคุมดูแลโรงงานอุตสาหกรรมได้ง่ายขึ้น ช่วยลดปัญหาโรงงานอุตสาหกรรมที่แทรกซึมอยู่ใกล้ที่อยู่อาศัย ซึ่งบริหารจัดการได้ยาก
ทั้งนี้ การกำหนดพื้นที่พิเศษอย่าง “EEC” ก็ต้องทำให้พิเศษ เพื่อส่งเสริมให้การประกอบธุรกิจ ทำมาค้าขายเป็นไปอย่างสะดวก และยังต้องส่งเสริมให้มีแบ่งปันการเติบโตนั้นไปยังธุรกิจขนาดเล็ดและขนาดกลางด้วย
ปักหมุด 6 อุตสาหกรรมยุคใหม่
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมสนับสนุนการลงทุนใหม่และยกระดับภาคการผลิตในอุตสาหกรรมยุคใหม่ 6 เซคเตอร์ ได้แก่
1.อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต นอกจากดึงการลงทุนรถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) มาแล้ว ยังรวมถึงการสนับสนุนให้การผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ในประเทศปรับไปสู่การผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ไฮบริด (HEV) รวมถึงเชื้อเพลิงไฮโดนเจน (FCEV)
2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ดึงการลงทุนอุตสาหกรรมต้นน้ำ อาทิ แผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) การออกแบบวงจรรวม พัฒนาจากการรับจ้างผลิต (OEM) เพิ่มให้มีการออกแบบ (ODM)
3.อุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าสูง ที่รวมทั้งอาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคการเกษตร เป็นอุตสาหกรรมนำการเกษตร
กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างเตรียมร่างกฎหมายใหม่สำหรับพืชปาล์มน้ำมัน โดยให้มีระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการและภาครัฐ ในลักษณะเดียวกับ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย
แนวทางดังกล่าวจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับพืชเศรษฐกิจ ให้มีการพัฒนาต่อยอดการใช้ประโยชน์ผลิตผลพลอยได้ (by product) ของปาล์ม มากกว่าเพียงการใช้ในสินค้าอุปโภค บริโภค เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมกระป๋อง น้ำมันพืช
4.อุตสาหกรรมป้องกันประเทศและป้องกันภัยพิบัติ โดยสนับสนุนให้ไทยซื้อของไทยและพัฒนาต่อยอดไปสู่ตลาดส่งออก
5.อุตสาหกรรมการแพทย์ สนับสนุนให้ใช้สินค้าของไทยที่ผลิตในประเทศเช่นเดียวกัน
6.อุตสาหกรรมพื้นฐาน อาทิ เหล็ก ปูน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมออกมาตรการพิเศษเพื่อช่วยรักษาการผลิตของอุตสาหกรรมเหล่านี้ในประเทศ เพื่อรักษาความมั่นคงในอนาคต
ส่งสัญญาณไทยพร้อมรับลงทุน
ทั้งนี้ การจะสร้างอุตสาหกรรมยุคใหม่ ไทยต้องมีให้ครบ 3 องค์ประกอบ ได้แก่
1.ห่วงโซ่อุปทานในประเทศที่สมบูรณ์
2.แนวคิดการผลิตอย่างยั่งยืน รับผิดชอบต่อสังคมและการมีส่วนร่วม
3.นโยายที่มีความยืดหยุ่นและปรับแต่งได้ (Tailor-Made Policy) ให้เหมาะสมตามพื้นที่การลงทุน
“ถ้าไทยมีองค์ประกอบทั้งหมดนี้ครบ ผมมั่นใจว่าในอนาคตประเทศไทยจะกลับมาเป็นเสือตัวใหม่ของภูมิภาคได้แน่นอน นักลงทุนต่างชาติในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าอยู่ในช่วงเวลาที่ตัดสินใจต้องการหนีร้อนมาพึ่งเย็น" นายเอกนัฏ กล่าว
ขณะนี้จึงเป็นจังหวะแห่งโอกาสถ้าวันนี้ไทยส่งสัญญาณและสื่อสารออกไปว่าเราพร้อมส่งเสริมและพร้อมจะปรับอะไรบ้าง โดยทุกหน่วยงานพร้อมร่วมมือกัน ผมมั่นใจว่าในรัฐบาลชุดนี้จะเห็นผลการลงทุนที่ไหลเข้ามาแน่นอน
IMCT News
ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1149694