จีนเดินหน้าเมกะโปรเจกต์ 'สร้างเขื่อนในทิเบต'

จีนเดินหน้าเมกะโปรเจกต์ 'สร้างเขื่อนในทิเบต' มูลค่า $1.67 แสนล้าน แม้เสี่ยงกระทบอินเดียและสิ่งแวดล้อม
22-7-2025
Bloomberg รายงานว่า จีนเริ่มสร้างเขื่อนมูลค่า 1.2 ล้านล้านหยวนในทิเบต แม้เสี่ยงกระทบความสัมพันธ์อินเดียและธรรมชาติ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง (Li Qiang) ของจีนได้ประกาศเริ่มต้นก่อสร้างโครงการเขื่อนพลังน้ำขนาดใหญ่บนแม่น้ำย่ารฺหลุงซางโป (Yarlung Tsangpo) ทางตอนล่างในเขตปกครองตนเองทิเบต ซึ่งมีมูลค่าโครงการสูงถึง 1.2 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 167 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นโครงการเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่จีนเคยพัฒนา มีขนาดใหญ่กว่าเขื่อน Three Gorges ถึง 3 เท่า
ในโอกาสเดียวกัน จีนได้เปิดตัวบริษัทใหม่ในชื่อ “China Yajiang Group” ที่จะรับผิดชอบการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนชุดนี้ ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว โครงการเขื่อนดังกล่าวถูกออกแบบให้สร้างพลังงานสะอาดขนาดมหาศาลจากเขื่อนเรียงต่อกัน 5 แห่งในรูปแบบแคสเคดบริเวณเมืองหลินจือ (Nyingchi) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทิเบต
ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า แนวช่องเขาซางโปซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำลดระดับถึง 2,000 เมตรภายในระยะทาง 50 กิโลเมตร คือแหล่งศักยภาพผลิตไฟฟ้าที่สามารถให้พลังงานสูงถึง 70 กิกะวัตต์ มากกว่ากำลังผลิตรวมของโปแลนด์ จึงอาจทำให้โครงการนี้กลายเป็นแหล่งพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
แม้ยังมีข้อมูลจำกัดเกี่ยวกับการเงินที่จะใช้สนับสนุน แต่ด้วยโมเดลการปล่อยกู้ที่เคยใช้อย่างต่อเนื่องในการสร้างเขื่อนต่าง ๆ ของจีน ประกอบกับรายได้จากการจำหน่ายพลังงานในอนาคตทำให้ผู้เชี่ยวชาญมองว่าไม่ใช่อุปสรรคสำคัญ ถึงอย่างนั้นก็มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเส้นทางเดินสายไฟที่จะส่งพลังงานผ่านพื้นที่ภูเขาห่างไกลไปยังเขตเศรษฐกิจสำคัญของจีนในตะวันออก เช่น ฮ่องกง
ตลาดการเงินตอบรับการประกาศก่อสร้างทันที โดยพันธบัตรรัฐบาลจีนอายุ 30 ปี ราคาตกลงถึง 0.5% เมื่อวันจันทร์ เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าโครงการดังกล่าวจะเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตร
โครงการนี้ได้รับการบรรจุไว้ในรายงานประจำปีของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission) เมื่อต้นปี โดยกล่าวถึงการก่อสร้างเขื่อนบริเวณช่วงล่างของแม่น้ำย่ารฺหลุงซางโปและโครงการส่งไฟฟ้าจากพื้นที่ดังกล่าวไปยังเขตฮ่องกง
การตัดสินใจเดินหน้าโครงการมีขึ้นแม้จะมีข้อกังวลหลายประการ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและความสัมพันธ์กับอินเดีย เนื่องจากแม่น้ำย่ารฺหลุงซางโปไหลต่อเข้าสู่อรุณาจัลประเทศทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งนิวเดลีถือเป็นเขตแดนตนเอง แม่น้ำสายนั้นไหลต่อเป็นแม่น้ำพรหมบุตร (Brahmaputra) ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบชลประทานของบังกลาเทศด้วย
อินเดียแสดงความกังวลอย่างเป็นทางการต่อจีนในเรื่องนี้เมื่อเดือนธันวาคม โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดียได้กล่าวต่อรัฐสภาในเดือนมีนาคมว่านี่เป็นประเด็นสำคัญในเวทีเจรจาของทั้งสองประเทศเมื่อต้นปี อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีของรัฐอรุณาจัลประเทศ โอจิง ทาซิง (Ojing Tasing) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันอาทิตย์ว่า อินเดียไม่อาจ "นิ่งเฉย" ต่อการเคลื่อนไหวของจีน และเริ่มดำเนินการกระตุ้นความร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่เพื่อเดินหน้าโครงการเขื่อน Upper Siang ซึ่งตั้งอยู่ในฝั่งอินเดียต่อแม่น้ำเดียวกัน
ความเคลื่อนไหวด้านพลังงานนี้เกิดขึ้นในบริบทความสัมพันธ์จีน–อินเดียที่เพิ่งกลับมาฟื้นตัวได้บางส่วนหลังเหตุการณ์ปะทะบริเวณพรมแดนในปี 2020 ซึ่งมีทหารอินเดียเสียชีวิตราว 20 นาย และจีนอย่างน้อย 4 นาย แม้ทั้งสองประเทศจะได้กลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต เช่น แต่งตั้งเอกอัครราชทูตใหม่ กลับมาเปิดเที่ยวบินตรง และผ่อนคลายกระบวนการขอวีซ่า แต่อิทธิพลของจีนในภูมิภาคยังเป็นประเด็นอ่อนไหว โดยเฉพาะเมื่ออินเดียหันไปร่วมมือกับสหรัฐฯ และมีข้อจำกัดด้านการลงทุนกับบริษัทจีน บางบริษัทยังต้องถอนเจ้าหน้าที่กลับจากโรงงานในอินเดีย
นอกจากนี้ ความตึงเครียดล่าสุดระหว่างอินเดียกับปากีสถานเมื่อต้นปี โดยที่อิสลามาบัดอ้างว่ายิงเครื่องบินอินเดียตกหลายลำ โดยใช้เครื่องบินลำเลียงและยุทโธปกรณ์ที่ผลิตโดยจีน ก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของภูมิภาคซับซ้อนขึ้น ขณะเดียวกัน หน่วยงานวิจัยของกระทรวงกลาโหมอินเดียก็เปิดเผยว่า ปักกิ่งมีบทบาทสนับสนุนปากีสถานด้วยระบบป้องกันภัยทางอากาศและดาวเทียม
ทั้งนี้ ประเด็น "น้ำ" ซึ่งเป็นต้นตอทรัพยากรร่วมในภูมิภาค กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งความขัดแย้งเชิงยุทธศาสตร์ นอกเหนือจากประเด็นด้านชายแดนและความมั่นคง โดยในช่วงก่อนความขัดแย้งกับปากีสถาน อินเดียได้ประกาศระงับสนธิสัญญาแบ่งปันแม่น้ำสินธุ (Indus Water Treaty) ซึ่งเคยใช้ควบคุมการใช้น้ำร่วมกันมานานหลายสิบปี
นอกเหนือจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ พื้นที่ซึ่งเป็นจุดก่อสร้างเขื่อนยังอยู่ในเขตรักษาพันธุ์ธรรมชาติแห่งชาติ และเป็นหนึ่งในศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพอันดับต้น ๆ ของจีน การสร้างเขื่อนและสูญเสียความสูงระดับน้ำ 2,000 เมตรภายในระยะ 50 กิโลเมตร ถือเป็นการรบกวนระบบนิเวศอันละเอียดอ่อนอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่ารัฐบาลจีนจะกล่าวว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ปลายน้ำและจะมีมาตรการป้องกันด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมรองรับอย่างรัดกุม
---
IMCT NEWS
ที่มา https://www.bloomberg.com/news/articles/2025-07-21/china-moves-ahead-with-167-billion-tibet-mega-dam-despite-risks?fromMostRead=true