Thailand
BRICS คือ "หนทางยุทธศาสตร์" ตุรกีสร้างสมดุลตะวันออก-ตก หนุนชาติพัฒนาอย่างยั่งยืน
12/8/2024
แม้ตุรกีจะเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่แข็งแกร่งและสำคัญ แต่ก็ต้องเผชิญความยากลำบากในความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป (EU) ที่ไม่ยอมรับตุรกีเป็นสมาชิก แม้จะร่วมมือและพยายามอย่างเต็มที่มาหลายปี ตุรกีจึงหันมาให้ความสนใจ BRICS ซึ่งเป็นสหภาพเศรษฐกิจการเงินที่จะช่วยปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ
มานซูร์ มาลิก เจ้าของ Diplomat Business Club Limited เห็นว่า BRICS ที่ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ เป็นพันธมิตรที่นำเสนอมุมมองใหม่ให้ตุรกี ซึ่งต้องพิจารณาเข้าร่วมอย่างจริงจัง เนื่องจากเผชิญแรงกดดันเศรษฐกิจจากเงินลีราอ่อนค่าและเงินเฟ้อพุ่งสูง ขณะที่พัฒนาการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และการส่งออก แต่ก็ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะการควบคุมดอลลาร์อยู่
ด้วยความซับซ้อนและผลประโยชน์มหาศาลดังกล่าว ตุรกีควรใช้แนวทางสมดุลและเชิงกลยุทธ์ ต้องรักษาสมดุลความสัมพันธ์กับพันธมิตรตะวันตก พร้อมทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างตะวันออกกับตะวันตก เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง
ควรใช้ประโยชน์จากศักยภาพการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นกับสมาชิก BRICS โดยพิจารณาจากโอกาสในตลาดโลก เน้นขอบข่ายความร่วมมือและการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติที่สำคัญ อีกทั้งวิเคราะห์ความเสี่ยงเศรษฐกิจและเตรียมแผนรับมือ นอกจากนี้ต้องใช้การทูตที่แข็งขันในการดึงเม็ดเงินจาก BRICS New Development Bank (NDB) มาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการสำคัญต่าง ๆ
ในระยะยาว ตุรกีควรผลักดันตัวเองเป็นผู้นำภูมิภาคโดยอาศัยจุดแข็งทางภูมิรัฐศาสตร์และพันธมิตรหลากหลาย ใช้เวที BRICS หารือประเด็นระดับโลกอย่างการค้าที่เป็นธรรม ภาวะโลกร้อน และความมั่นคงนานาชาติ ซึ่งสอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติ พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านความร่วมมือวิจัยและพัฒนากับประเทศสมาชิก รวมถึงผลักดันเศรษฐกิจสีเขียวและความยั่งยืนในระยะยาว
นอกจากนี้ การสร้างเอกภาพภายในชาติทั้งภาคการเมืองและธุรกิจ เพื่อผลประโยชน์โดยรวมจากการเข้าร่วม BRICS การเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันเศรษฐกิจโดยลงทุนในเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และพลังงานหมุนเวียน เน้นใช้บุคลากรในประเทศ ปรับกรอบกฎหมายให้สอดคล้องสากลเพื่ออำนวยความสะดวกการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ก็ล้วนแต่เป็นแนวทางที่จำเป็นต้องดำเนินการ
การเป็นสมาชิก BRICS นับเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายครั้งสำคัญของตุรกี หากสามารถใช้แนวทางที่สมดุลผสานความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ การทูตเชิงยุทธศาสตร์ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ตุรกีจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเข้าร่วมกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาชั้นนำของโลกนี้ ซึ่งจะช่วยปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ รักษาความสัมพันธ์กับฝ่ายตะวันตก และบรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้ไปพร้อม ๆ กัน
นี่จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตุรกีที่กำลังปรับตัวสู่การเป็นประเทศที่มีอิทธิพลเพิ่มขึ้นในเวทีโลก ผ่านความร่วมมือกับชาติมหาอำนาจเกิดใหม่อย่าง BRICS ซึ่งเปิดโอกาสการค้า การลงทุน และการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด หาก "สมดุล" และ "ยุทธศาสตร์" เป็นสิ่งที่ตุรกียึดมั่นในการดำเนินนโยบายต่างประเทศและเศรษฐกิจครั้งสำคัญนี้
IMCT NEWS