เศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอยครั้งแรกในรอบปี

เศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอยครั้งแรกในรอบปี — อุตสาหกรรมรถยนต์หวั่นวิกฤตซ้ำซ้อนจากภาษีสหรัฐฯ และเงินเยนแข็งค่า
18-5-2025
โตเกียว — ญี่ปุ่นเผชิญการหดตัวทางเศรษฐกิจครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ปรับตามฤดูกาลลดลง 0.2% ในไตรมาสแรกของปี 2024 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า คิดเป็นการหดตัวในอัตราเฉลี่ยรายปีที่ 0.7% ซึ่งเกินกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
ข้อมูลเบื้องต้นที่เผยแพร่โดยรัฐบาลเมื่อวันศุกร์ชี้ว่า สาเหตุหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่อ่อนแอ และการส่งออกที่ลดลง 0.6% เป็นครั้งแรกในรอบปี ส่งสัญญาณถึงความเปราะบางในโครงสร้างเศรษฐกิจ
ทาคาฮิเดะ คิอุจิ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันโนมูระ เตือนว่า ผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ อาจยิ่งผลักดันเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยลึกลงไปอีก
อุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของเศรษฐกิจประเทศ กำลังเตรียมรับมือกับแนวโน้มกำไรที่ลดลงในปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2026 โดยมีแรงกดดันทั้งจากภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และค่าเงินเยนที่แข็งตัว
โตโยต้า มอเตอร์ คาดว่ากำไรสุทธิจะลดลง 34.9% เหลือ 3.1 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 21,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยระบุว่าเพียงแค่ภาษีในเดือนเมษายนและพฤษภาคม จะทำให้กำไรจากการดำเนินงานหายไปถึง 180,000 ล้านเยน
ฮอนด้า คาดว่ากำไรจะลดลงรุนแรงยิ่งขึ้นถึง 70.1% เหลือ 250,000 ล้านเยน ส่วน นิสสัน เผชิญแรงกระแทกหนักที่สุดถึงขั้นประกาศแผนปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ปิดโรงงาน 7 แห่งจากทั้งหมด 17 แห่งทั่วโลก และลดพนักงาน 20,000 คน โดยปฏิเสธที่จะให้ประมาณการณ์ผลกำไร ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านนโยบายภาษีของสหรัฐฯ
บริษัทอื่นอย่าง มาสด้า และ ซูบารุ ก็ระงับการให้แนวโน้มผลประกอบการเช่นกัน
ฟูมิโอะ มัตสึโมโตะ หัวหน้านักกลยุทธ์จาก Okasan Securities ระบุว่า ความท้าทายเหล่านี้อาจนำไปสู่การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นในระยะยาว
จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น ปี 2024 อุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีการจ้างงานรวมถึง 5.58 ล้านคน หรือคิดเป็น 8.3% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ
คิอุจิยังประเมินว่า ภาษีตอบโต้ 24% ของสหรัฐฯ จะส่งผลให้ GDP ของญี่ปุ่นลดลงราว 0.59% และเมื่อรวมกับภาษีรถยนต์อีก 25% ผลกระทบโดยรวมอาจแตะ 0.76%
ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์โตเกียว TOPIX เผยว่า หนึ่งในสามของบริษัทที่ประกาศผลประกอบการล่าสุด คาดว่ากำไรสุทธิจะลดลงในปีงบประมาณนี้
เคน โคบายาชิ ประธานหอการค้าญี่ปุ่น กล่าวว่า ตนกังวลว่าแรงกดดันจากภาษีอาจส่งผลกระทบต่อการขึ้นค่าแรงของภาคธุรกิจ ซึ่งขณะนี้เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในประเทศ
มาซาคาซุ โทคุระ ประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น เสริมว่า ขณะที่หลายฝ่ายกังวลต่อภาษีโดยตรง ต้นตอสำคัญกลับอยู่ที่การบริโภคและการลงทุนที่ชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอน พร้อมเรียกร้องให้มีการเจรจาระหว่างประเทศอย่างรอบคอบ และเร่งผลักดันการยกเลิกภาษีที่สูงเกินความจำเป็น เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจลุกลามในระยะยาว
IMCT News
ที่มา: https://www.chinadaily.com.cn/a/202505/17/WS6827f2a8a310a04af22bff97.html