9/10/2024
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน เตรียมเดินทางเยือนกรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ในสัปดาห์นี้ เพื่อร่วมประชุมกับชาติสมาชิกสมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน และคาดว่าจะร่วมหารือโดยตรงกับผู้นำคนใหม่ของหลายประเทศในภูมิภาคนี้
รัฐมนตรีบลิงเคนจะเป็นตัวแทนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในการประชุมสุดยอด อาเซียน-สหรัฐฯ และเข้าร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ซึ่งคาดว่าจะมีผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากอินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และจีนเข้าร่วม
กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า บลิงเคน จะหารือประเด็นภูมิศาสตร์การเมืองโลกกับผู้นำหลายประเทศ รวมทั้งความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และวิกฤตการณ์ในเมียนมา
และในขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมากำลังเตรียมการเลือกตั้งในปีหน้าท่ามกลางความขัดแย้งที่ลุกลามไปทั่วประเทศ แดเนียล คริเทนบริงค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวกับวีโอเอทางโทรศัพท์ในวันอังคาร
"เรายังคงกังวลอย่างยิ่งต่อแผนของรัฐบาลทหารเมียนมาที่จะจัดการเลือกตั้ง เนื่องจากการเลือกตั้งใด ๆ ก็ตามภายใต้สถานการณ์ในขณะนี้จะมิได้สะท้อนถึงความปรารถนาที่แท้จริงของประชาชนเมียนมา" คริเทนบริงค์กล่าว และยังเสริมว่า สหรัฐฯ เกรงว่าการเลือกตั้งก่อนเวลาอันเหมาะสมภายใต้สถานการณ์ในปัจจุบัน อาจจะยิ่งก่อให้เกิดความรุนแรงและทำให้วิกฤตในเมียนมายิ่งยืดเยื้อออกไป
การประชุมสุดยอดสมาคมอาเซียนในปีนี้ยังถือเป็นการเปิดตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย แพทองธาร ชินวัตร ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม ซึ่งจะเป็นผู้นำที่อายุน้อยที่สุดที่เข้าร่วมการประชุม ด้วยวัย 38 ปี
และในประเด็นที่เกี่ยวกับความพยายามของไทยในการเป็นตัวกลางจัดการวิกฤตในเมียนมา ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า "ไทยยังคงเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนสำคัญที่สุดของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งในประเด็นที่เกี่ยวกับเมียนมา"
คริเทนบริงค์ กล่าวกับวีโอเอว่า สหรัฐฯ และไทย "ได้ร่วมหารืออย่างใกล้ชิดและครอบคลุมในหลายประเด็น รวมทั้งเรื่องเมียนมาด้วย" พร้อมขอบคุณไทยที่ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากเมียนมาจำนวนมาก และหวังว่าการทำงานร่วมกันของสองประเทศจะเดินหน้าต่อไปภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ของไทย
นอกจากนายกฯ แพทองธาร แล้ว ผู้นำหน้าใหม่ที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน และเอเชียตะวันออกในปีนี้ ยังรวมถึง ลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคม และ ชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นที่รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม
ทั้งนี้ คาดว่าประเด็นเรื่องความมั่นคงในภูมิภาค การพัฒนาและการค้าการลงทุน รวมถึงการสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปมานเซมิคอนดักเตอร์ จะเป็นหัวข้อสำคัญของการหารือระหว่างสหรัฐฯ กับผู้นำที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้
เมื่อปีที่แล้ว มูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับอาเชียน แตะระดับเกือบ 400,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศคู่ค้าอันดับสองของภูมิภาคนี้รองจากจีน นอกจากนี้อเมริกายังเป็นประเทศที่มีการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติมากที่สุดในอาเซียนด้วยมูลค่า 74,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2023 ด้วย
ด้าน ซูซานนา แพตตัน ผอ.โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของสถาบันคลังสมอง Lowy Institute ในนครซิดนีย์ ให้ความเห็นว่า การประชุม East Asia Summit ปีนี้จะถูกใช้เป็นเวทีหารือแนวทางจัดการประเด็นปัญหาระดับโลก เช่น สงครามในยูเครน และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง เช่นกัน
IMCT News
ที่มา: วีโอเอ