World Press Photo ระงับชื่อผู้ถ่ายภาพ “Napalm Girl

World Press Photo ระงับชื่อผู้ถ่ายภาพ “Napalm Girl”
17-5-2025
ประวัติศาสตร์อาจต้องเขียนใหม่ หลังสารคดีใหม่เปิดข้อสงสัย ภาพข่าวในตำนานอาจไม่ได้เป็นของผู้ที่ได้รับรางวัล หนึ่งในภาพถ่ายข่าวที่โด่งดังที่สุดของศตวรรษที่ 20 กำลังเผชิญข้อถกเถียงครั้งใหญ่ เมื่อองค์กร World Press Photo ระงับการรับรองผู้ถ่ายภาพ "Napalm Girl" หลังสารคดีเรื่องใหม่อ้างว่าภาพนี้อาจไม่ได้ถ่ายโดย Nick Ut ตามที่เชื่อกันมานานกว่า 50 ปี
ภาพถ่ายชื่ออย่างเป็นทางการว่า The Terror of War แสดงภาพเด็กหญิงอายุ 9 ขวบชื่อ ฟาน ถิ คิม ฟุก (Phan Thi Kim Phuc) วิ่งหนีจากการโจมตีด้วยระเบิดนาปาล์มในหมู่บ้านจ่างบ่าง ประเทศเวียดนามใต้ ภาพนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนมิถุนายนปี 1972 และได้รับการยกย่องในวงการข่าวทั่วโลก โดยมีการระบุว่าเป็นผลงานของ Nick Ut ช่างภาพเวียดนามของสำนักข่าว AP ซึ่งในขณะนั้นมีอายุเพียง 21 ปี
ภาพนี้คว้ารางวัล World Press Photo of the Year ในปีถัดมา และกลายเป็นหลักฐานสำคัญของความโหดร้ายในสงครามเวียดนาม
แต่ล่าสุด สารคดีชื่อ The Stringer ที่เปิดตัวในเทศกาล Sundance เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้ตั้งข้อสงสัยว่า ผู้ที่ลั่นชัตเตอร์จริงอาจเป็น Nguyen Thành Nghe คนขับรถของสถานี NBC ซึ่งขายภาพข่าวให้ AP ในฐานะฟรีแลนซ์ สารคดีระบุว่า Nghe ไม่ได้รับเครดิตเพียงเพราะไม่ได้เป็นพนักงานของ AP
องค์กร World Press Photo เปิดเผยผลสอบสวนภายในเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า จากการวิเคราะห์ตำแหน่ง ระยะทาง และกล้องที่ใช้ในวันนั้น พบว่า “Nguyen Thành Nghe หรืออีกหนึ่งช่างภาพคือ Huỳnh Công Phúc อาจอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมกว่าสำหรับการถ่ายภาพนี้ มากกว่า Nick Ut”
อย่างไรก็ตาม การระงับครั้งนี้จำกัดเฉพาะการระบุชื่อผู้ถ่ายเท่านั้น รางวัลภาพถ่ายแห่งปีในปี 1973 ยังคงได้รับการยอมรับตามเดิม โดยระบุว่า “ภาพนี้ยังคงเป็นภาพจริงทางประวัติศาสตร์ ที่มีความสำคัญระดับโลก และส่งแรงสะเทือนทั้งในเวียดนาม สหรัฐอเมริกา และทั่วโลก”
ด้าน AP ได้จัดทำรายงานผลสอบสวนฉบับที่สองในรอบ 4 เดือน โดยระบุว่า “ไม่มีหลักฐานเด็ดขาด” ที่จะเปลี่ยนแปลงการระบุชื่อช่างภาพ และแม้จะพบข้อขัดแย้งบางประการ แต่ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า Ut ไม่ใช่ผู้ถ่ายภาพ
Derl McCrudden รองประธานฝ่ายข่าวระดับโลกของ AP กล่าวว่า “เราตรวจสอบทุกมุมที่ทำได้ ด้วยความเคารพต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าใครจะเป็นเจ้าของภาพจริง สิ่งสำคัญคือหลักฐานต้องชัดเจน ซึ่งเรายังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอ”
สารคดียังได้นำพยานหลายรายมาสนับสนุนเรื่องราวของ Nghe รวมถึงน้องชาย ลูกสาวของเขา และอดีตบรรณาธิการภาพของ AP ในไซง่อน นอกจากนี้ยังมีการใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์จากองค์กรฝรั่งเศสที่ประเมินว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากที่ Ut จะเป็นผู้ถ่ายภาพ
แม้ Ut จะยังยืนยันความเป็นเจ้าของภาพ และยอมรับว่าข้อถกเถียงนี้สร้างความเจ็บปวดอย่างมาก แต่สำหรับ World Press Photo ตอนนี้ผู้ถ่ายภาพอย่างเป็นทางการถือว่า “ไม่สามารถระบุได้”
“นี่คือประวัติศาสตร์ที่ยังคงมีข้อถกเถียง และเราอาจไม่มีวันรู้แน่ชัดว่าใครคือผู้ถ่ายภาพนี้อย่างแท้จริง”
— แถลงการณ์จาก World Press Photo
องค์กรยังระบุด้วยว่า การระงับการระบุชื่อจะยังคงมีผลต่อไป จนกว่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนมาหักล้าง
IMCT News
ที่มา: https://www.theguardian.com/artanddesign/2025/may/16/napalm-girl-world-press-photo