.

วาติกันกับปมการเงินยุ่งเหยิง: สมณสมัยของโป๊บลีโอที่ 14 จะสามารถฟื้นฟูสถานะทางการเงินได้หรือไม่?
10-5-2025
หลังจากที่โป๊บฟรานซิสสิ้นพระชนม์และโรเบิร์ต ฟรานซิส เปรโวสต์ วัย 69 ปี ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ภายใต้พระนามว่า “โป๊บลีโอที่ 14” นักวิเคราะห์ต่างจับตามองว่าเขาจะสามารถสะสางความยุ่งเหยิงทางการเงินของนครวาติกันได้มากน้อยเพียงใด
ก่อนการประชุมเลือกพระสันตะปาปาจะสิ้นสุด บรรณาธิการเว็บไซต์ข่าว Crux ผู้เชี่ยวชาญด้านคริสตจักรคาทอลิก ได้เขียนไว้ว่า สมณราชาองค์ใหม่จะต้องมี 3 คุณสมบัติหลัก ได้แก่ 1) นักเผยแผ่ศาสนา 2) นักการทูตที่สามารถยืนหยัดบนเวทีโลกเคียงข้างผู้นำระดับโลกเช่น โดนัลด์ ทรัมป์ วลาดิเมียร์ ปูติน หรือ สี จิ้นผิง และ 3) ผู้บริหารที่สามารถควบคุมระบบภายในวาติกันได้ ซึ่งรวมถึงการรับมือกับวิกฤตการเงินด้วย
จอห์น แอลเลน จูเนียร์ สรุปว่า “โป๊บลีโอน่าจะผ่านทั้งสามข้อนี้” โดยเฉพาะเมื่อทรงมีวุฒิการศึกษาด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขงบดุลที่ยุ่งเหยิง
สถานะการเงินของวาติกันขณะนี้เป็นอย่างไร?
นครวาติกันควบคุมเฉพาะงบประมาณของตนเอง ไม่รวมศาสนจักรคาทอลิกในประเทศอื่น ๆ และไม่มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีหรือการออกพันธบัตร รายได้หลักจึงมาจากอสังหาริมทรัพย์ในอิตาลีและสถาบันการศึกษา-โรงพยาบาลในกรุงโรม ซึ่งคิดเป็น 65% ของรายได้ 770 ล้านยูโร (ประมาณ 875 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในปี 2022
อีก 30% มาจากเงินบริจาค ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 45 ล้านยูโรต่อปี และเคยพุ่งถึง 66 ล้านยูโรในปี 2019 ส่วนอีก 5% มาจาก “ธนาคารวาติกัน” และรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งลดลงอย่างมากในช่วงโควิด-19
อย่างไรก็ตาม วาติกันยังขาดดุลอย่างต่อเนื่อง โดยงบการเงินที่ได้รับการอนุมัติในปี 2024 (สำหรับปีงบ 2022) ระบุว่ามีการขาดดุลถึง 83 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นจาก 33 ล้านยูโรในปีก่อนหน้า ปัญหานี้เกิดจากต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น ทั้งค่าจ้าง ความปลอดภัย และค่าบำรุงรักษาอาคาร รวมถึงปัญหาใหญ่ในกองทุนบำนาญของวาติกันเอง
ปัญหากองทุนบำนาญของวาติกันรุนแรงแค่ไหน?
กองทุนบำนาญมีช่องว่างสูงถึง 631 ล้านยูโร (ราว 717 ล้านดอลลาร์) ตามข้อมูลของสำนักเลขาธิการเศรษฐกิจวาติกันในปี 2022 โดยยังไม่มีการอัปเดตอย่างเป็นทางการ
กองทุนบำนาญแบบ “ผลประโยชน์กำหนดไว้ล่วงหน้า” นี้อาจไม่ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างตามอายุขัยที่ยืนยาวขึ้นของผู้รับบำนาญ โดยในปี 1960 อายุขัยเฉลี่ยของชาวอิตาเลียนคือ 69 ปี แต่ในปี 2022 เพิ่มขึ้นเป็น 83 ปี
โป๊บฟรานซิสเคยเตือนว่า ระบบบำนาญในปัจจุบัน “จะไม่สามารถรับภาระได้ในระยะกลาง” พร้อมส่งจดหมายถึงคณะพระคาร์ดินัลระบุว่า “ข้อมูลที่มีอยู่แสดงถึงความไม่สมดุลที่รุนแรง และมีแนวโน้มจะขยายตัวหากไม่มีการแก้ไข”
โป๊บยังแต่งตั้งพระคาร์ดินัลเควิน ฟาร์เรล เป็นผู้บริหารกองทุนคนใหม่ พร้อมระบุว่าส่วนโครงสร้างการดำเนินงานอาจต้องเปลี่ยนแปลง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะหาเงินอุดหนุนจากแหล่งใด เนื่องจากไม่สามารถใช้เงินบริจาคซึ่งเจาะจงเพื่อการกุศลได้โดยง่าย
สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้การเงินของวาติกันสั่นคลอน
หนึ่งในกรณีอื้อฉาวคือการใช้เงินเกือบ 350 ล้านยูโรในช่วงปี 2014–2018 เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์หรูในลอนดอน ซึ่งสุดท้ายขายขาดทุนถึง 140 ล้านยูโรในปี 2022 การซื้อขายดังกล่าวนำไปสู่การฟ้องร้องคดีทุจริตของพระคาร์ดินัลอันเจโล เบกคิว ซึ่งเป็นผู้ดูแลดีลนี้
วาติกันยังเคยพัวพันกับคดีอื้อฉาวอื่น ๆ เช่น การล่มสลายของธนาคาร Banco Ambrosiano ในปี 1982 ซึ่งทำให้สูญเงินกว่า 250 ล้านดอลลาร์ รวมถึงการกล่าวหาว่าฟอกเงินจากทองคำและทรัพย์สินที่ปล้นจากชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
โป๊บฟรานซิสเคยปฏิรูปอะไรไว้แล้วบ้าง?
ปี 2019 ฟรานซิสนำการปฏิรูปเชิงรุกด้วยการตรวจค้นหน่วยงานวาติกัน และยึดอำนาจการลงทุนจากสำนักเลขาธิการแห่งรัฐ พร้อมพักงานเจ้าหน้าที่ 5 ราย และต่อมาศาลได้ตัดสินลงโทษพระคาร์ดินัลเบกคิวในหลายข้อหาทุจริต
ก่อนสิ้นพระชนม์ ฟรานซิสเน้นย้ำเรื่อง “นโยบายสมดุลรายรับ-รายจ่าย” โดยมีการลดเงินเดือนพระคาร์ดินัล 3 ครั้งภายใน 3 ปี และพยายามระดมทุนจากภายนอก แม้จะถูกต่อต้านจากฝ่ายบริหารภายในก็ตาม
ทั้งนี้ วาติกันได้รับการรับรองมาตรฐานต่อต้านการฟอกเงินจากหน่วยงานกำกับของยุโรปในปี 2021 แต่ฟรานซิสก็ยังไม่สามารถกำจัดปัญหาการขาดดุลได้โดยสิ้นเชิง
พระสันตะปาปาองค์ใหม่จะเดินต่อหรือไม่?
โป๊บลีโอที่ 14 ถือเป็นพันธมิตรของฟรานซิส และมีแนวโน้มจะเดินหน้าปฏิรูปต่อไป บางกระแสชี้ว่าอาจมีการลดขนาดหน่วยงานทูตของวาติกันเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่ยังไม่ชัดเจนว่าโป๊บองค์ใหม่จะกล้าก้าวไปไกลเท่าโป๊บองค์ก่อนหรือไม่ และจะสามารถพลิกฟื้นฐานะการเงินของนครรัฐศักดิ์สิทธิ์ได้สำเร็จหรือเปล่า
IMCT News
ที่มา : https://www.aljazeera.com/news/2025/5/9/the-vaticans-messy-finances-will-pope-leo-xiv-be-able-to-clean-up