อินโดนีเซียเตรียมยื่น WTO โต้กลับมาเลเซีย

อินโดนีเซียเตรียมยื่น WTO โต้กลับมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของมาเลเซีย
10-5-2025
จาการ์ตา – กระทรวงพาณิชย์อินโดนีเซียประกาศว่าจะจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หลังรัฐบาลมาเลเซียประกาศใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (anti-dumping duty) กับสินค้า พอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (PET) นำเข้าจากอินโดนีเซียและจีน เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยอินโดนีเซียเตรียมดำเนินการทางกฎหมายผ่านองค์การการค้าโลก (WTO) หากจำเป็น ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเรียกร้องให้รัฐบาลรีบดำเนินการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ
PET เป็นพลาสติกใสแบบเทอร์โมพลาสติกที่มักใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและบรรจุภัณฑ์อาหารหรือเครื่องดื่ม โดยกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซีย (MITI) เปิดเผยว่า หลังรับคำร้องจากผู้ผลิตภายในประเทศเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว รัฐบาลได้เปิดการสอบสวน และพบว่าการนำเข้า PET จากอินโดนีเซียและจีนมีราคาต่ำกว่าตลาด ส่งผลให้ผู้ผลิตภายในมาเลเซียได้รับความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญ
จากผลการสอบสวนดังกล่าว มาเลเซียจึงประกาศเก็บภาษีนำเข้า PET จากอินโดนีเซียในอัตราสูงถึง 37.4% และจากจีนในช่วง 2.3% ถึง 11.7% มีผลตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2025 ไปจนถึงวันที่ 6 พฤษภาคม 2030
นายจัตมิโก บริส วิจักษโณ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศของอินโดนีเซีย เปิดเผยกับ Jakarta Post ว่า อินโดนีเซียกำลังประเมินนโยบายของประเทศคู่ค้าอย่างรอบด้าน รวมถึงมาตรการทางการค้าประเภทตอบโต้การทุ่มตลาด โดยย้ำว่ารัฐบาลจะตรวจสอบทั้งในแง่ขั้นตอนและเนื้อหาสาระ หากจำเป็นจะใช้ช่องทางของ WTO ดำเนินการตามกฎหมาย
ด้านนายกฤษณะ คุปตะ นักวิจัยอาวุโสจากศูนย์นโยบายอินโดนีเซีย (CIPS) กล่าวว่ารัฐบาลควรขอผลการสอบสวนจากมาเลเซียโดยด่วน และจัดการหารือกับ MITI ก่อนดำเนินการแจ้ง WTO อย่างเป็นทางการ พร้อมชี้ว่าแม้ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว แต่การใช้มาตรการ anti-dumping เป็นสิ่งที่ทำได้ภายใต้กฎหมายการค้าโลก และประเด็นสำคัญอยู่ที่การนำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้าน
ขณะเดียวกัน นายอันดรี ซาตริโอ นูโกรโฮ จากสถาบัน Indef วิจารณ์ว่าการที่รัฐบาลอินโดนีเซียไม่เคยดำเนินมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดกับ PET มาก่อน แสดงถึงการไม่สนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศอย่างเพียงพอ โดยในปี 2018 กระทรวงพาณิชย์อินโดนีเซียเคยเสนอให้เก็บภาษี PET จากมาเลเซีย จีน และเกาหลีใต้ แต่แผนดังกล่าวถูกระงับเพราะเกรงว่าจะกระทบต่อราคาอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ
อันดรียังเตือนว่า หากไม่มีมาตรการตอบโต้ที่เหมาะสม ผู้ผลิต PET ในประเทศจะประสบปัญหาการแข่งขัน ขายสินค้าในประเทศได้ยาก และยังส่งออกลำบากขึ้นเมื่อถูกเก็บภาษีสูงจากต่างประเทศ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรวบรวมหลักฐานเพื่อโต้แย้งกับมาเลเซีย รวมถึงตรวจสอบความเป็นไปได้ของการลักลอบขนสินค้าจากจีนผ่านอินโดนีเซีย
ผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในภูมิภาค
แม้การเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดจะเป็นแนวปฏิบัติตามกรอบ WTO และ GATT ซึ่งทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซียต่างเคยใช้มาก่อน แต่บางฝ่ายมองว่าการใช้มาตรการลักษณะนี้อาจบั่นทอนความพยายามของอาเซียนในการรวมกลุ่มเพื่อรับมือกับความท้าทายทางการค้าระดับโลก โดยเฉพาะการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา
อันดรีจาก Indef ระบุว่า ความแตกต่างของผลประโยชน์ระดับชาติในอาเซียนเป็นอุปสรรคต่อการรวมกลุ่ม และเน้นว่าการประสานงานระดับภูมิภาคควรเกิดขึ้นก่อนจะใช้มาตรการตอบโต้ใด ๆ โดยกล่าวว่า “ควรให้ความสำคัญกับการเจรจา มากกว่าการตอบโต้”
ความเคลื่อนไหวของมาเลเซียมีขึ้นไม่นานหลังจากที่นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ได้ติดต่อพูดคุยกับผู้นำอาเซียนหลายประเทศ รวมถึงประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ของอินโดนีเซีย เพื่อย้ำถึงความร่วมมือระดับทวิภาคี โดยอันวาร์ยังโพสต์ในอินสตาแกรมเมื่อวันที่ 30 เมษายน ว่า ได้หารือร่วมกับผู้นำของบรูไน ลาว และอินโดนีเซีย ถึงแนวทางเจรจากับสหรัฐฯ เรื่องภาษี พร้อมย้ำว่า “อาเซียนจำเป็นต้องมีท่าทีร่วมกันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ระยะยาวของภูมิภาคและเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ”
IMCT News
ที่มา https://asianews.network/indonesia-considers-wto-action-over-malaysias-anti-dumping-duty/