ขอบคุณภาพจาก RT
23/10/2024
ยุคที่ธนาคารกลางทั่วโลกต้องเดินตามธนาคารกลางสหรัฐ จบสิ้นไปแล้ว เป็นเวลาหลายสิบปีแล้วที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด คอยบงการนโยบายการเงินโลก การปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะกระทบกับสกุลเงิน ดัชนีหุ้น และเศรษฐกิจโลก
ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ย แต่ละที่ก็จะต้องทำตาม ไม่เช่นนั้น สกุลเงินของพวกเขาจะถูกดอลลาร์สหรัฐไล่บี้ แต่เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน มีความเป็นอิสระมากขึ้น และหลายสิ่งก็เปลี่ยนแปลงไป
หลายประเทศต่างต้องต่อสู้ด้วยตัวเอง และธนาคารกลางหลายแห่งก็ตัดสินใจอิงตามความต้องการของประเทศตัวเอง ไม่ใช่อิงตามสถานการณ์ที่เกิดในสหรัฐ
ในช่วงทศวรรษที่ 1990 และ 2000 ทั้งหมดล้วนขึ้นอยู่กับเฟด เศรษฐกิจสหรัฐครองความเป็นมหาอำนาจขั้นสุด และธนาคารกลางส่วนใหญ่ทั่วโลกก็ต้องเต้นตามจังหวะของสหรัฐ
ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะเป็นตัวคอยกำหนดจังหวะ และถ้าประเทศไหนไม่ทำตาม สกุลเงินก็อาจล้มได้ พันธมิตรของสหรัฐเริงร่ากับผลประโยชน์จากการได้เข้าตลาดอเมริกัน และลงทุนที่นั่น
ในขณะเดียวกัน คู่ศัตรูอย่างสหภาพโซเวียต ซึ่งย่ำแย่เพราะถูกคว่ำบาตร ก็ต้องทนดูเศรษฐกิจตัวเองเหี่ยวเฉา ขณะที่จีนยังคงเป็นเพื่อนคอยหนุนอยู่ เพราะเศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างมากในช่วงนั้น แต่ตอนนี้ ทุกสิ่งกลายเป็นอดีตไปแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงเดินหน้าอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน และโลกก็เปลี่ยนไปอย่างมาก เศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่ต่างเผชิญความท้าทายต่างกันไป อย่างที่สหรัฐ ก็เจอปัญหาเงินเฟ้อขนานใหญ่มาสองปีแล้ว
ฟากยุโรป ก็กำลังจัดการปัญหา จากการที่รัสเซียทำสงครามในยูเครน ยุโรปมีปัญหาเงินเฟ้อเช่นกัน และสถานการณ์ย่ำแย่ลง เพราะสูญเสียก๊าซราคาถูกจากรัสเซีย
ญี่ปุ่นยินดีที่ได้เห็นเงินเฟ้อ หลังเศรษฐกิจหยุดชะงักมานานหลายสิบปี ส่วนจีนกำลังแก้ปัญหาเงินฝืด และตลาดอสังหาริมทรัพย์ล้ม
และในช่วงที่เฟดดิ้นรนจะคุมเงินเฟ้ออยู่นั้น ธนาคารกลางแห่งอื่นๆ ก็กำลังแก้ปัญหาของตัวเอง ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางอังกฤษชิงลงมือก่อน ด้วยการเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย ก่อนที่เฟดจะทำเสียอีก
ส่วนเงินเยนญี่ปุ่นก็ขึ้นลงแบบรถไฟเหาะตีลังกา โดยอ่อนค่าเมื่อช่วงต้นปี แล้วก็แข็งค่าในช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา จากนั้น ก็อ่อนค่าลงอีก หลังจากเฟดและธนาคารกลางญี่ปุ่นใช้นโยบายแตกต่างกัน
นโยบายต่างประเทศของสหรัฐ โดยเฉพาะที่มีต่อรัสเซีย ถือว่า ไม่เหมือนเดิม เมื่อปี 2022 รัฐบาลสหรัฐคว่ำบาตรรัสเซีย หวังให้เศรษฐกิจชะงัก แต่ก็ไม่ได้ผล อินเดียยังคงซื้อน้ำมันจากรัสเซีย จีนยังคงขายสินค้ากับรัสเซีย และเกาหลีเหนือยังคงส่งปืนใหญ่ให้รัสเซียไว้ใช้ในสงคราม
ตอนนี้ เศรษฐกิจรัสเซียกำลังจะขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง 3.5% ในปีนี้ ( 2024 ) และกองทัพก็รุกคืบในยูเครนมากขึ้น
สิ่งที่ปรับเปลี่ยนในตอนนี้ ก็คือ สหรัฐและพันธมิตรครองสัดส่วนเศรษฐกิจโลกน้อยลง ย้อนกลับไปในปี 1990 สหรัฐครองสัดส่วน 21% ของจีดีพีโลก และกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ชาติ หรือ G7 ครองส่วนแบ่ง 50% แต่พอถึงปี 2024 สัดส่วนของสหรัฐลดลงเหลือ 15% ส่วนกลุ่ม G7 เหลือ 30%
G7 เคยเป็นผู้ตัดสินใจรายใหญ่ของโลก แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อกลุ่ม G20 ได้เข้ามา โดยรวมถึงจีนและกลุ่มประเทศเกิดใหม่อื่นๆ
ดอลลาร์สหรัฐแม้ยังคงเป็นมหาอำนาจ แต่ก็สูญเสียบทบาทไปบ้าง ย้อนกลับไปเมื่อปี 2000 ดอลลาร์ยังครองสัดส่วนทุนสำรองของธนาคารกลางทั่วโลกถึง 72% แต่พอถึงปี 2023 สัดส่วนเหลือแค่ 58% ขณะที่จีนทำการค้า 1 ใน 4 โดยใช้เงินหยวน ทั้งที่เมื่อสิบปีก่อน เงินหยวนแทบนำมาใช้ค้าขายข้ามแดนไม่ได้เลย ตอนนี้ ลมกำลังเปลี่ยนทิศแล้วจริง
การชี้นำจากสหรัฐในเศรษฐกิจโลก จึงมีน้อยลง และจีนอาจผงาดขึ้นมากลายเป็นผู้ก่อร่างสร้างโลกในอนาคตอันใกล้ ไม่ใช่เฟด
การที่ธนาคารกลางทั่วโลก ดำเนินนโยบายตามใจตัวเอง ไม่ต้องตามเฟดเหมือนแต่ก่อน จึงสร้างความสั่นสะเทือนไปยังภาครัฐ ธุรกิจ และนักลงทุนทั่วโลก
ห่วงโซ่อุปทาน , หุ้นส่วนการค้า และตลาดเงิน ล้วนรู้สึกได้ถึงผลกระทบนี้ หลายบริษัทต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ทั้งการเลือกแหล่งผลิต แหล่งขาย ถ้าก้าวผิดเพียงนิดเดียวอาจถูกภาษีเล่นงาน หรือถูกคว่ำบาตร หรือลดการซื้อ
สำหรับนักลงทุนแล้ว ส่วนได้ส่วนเสียจากเรื่องนี้มีสูงมาก อาจได้หรือเสียอย่างรวดเร็ว เช่น เงินปอนด์อังกฤษที่แข็งค่า แล้วก็อ่อนค่าภายในไม่กี่สัปดาห์ ทันทีที่ธนาคารกลางอังกฤษออกมาจากวังวนของเฟด
By IMCT News
อ้างอิงจาก https://www.cryptopolitan.com/central-banks-break-from-federal-reserve/