ขอบคุณภาพจาก Caixin Global
24/10/2024
Nikkei Asia รายงานมุมมองผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่ง ที่คาดการณ์ว่าจีนกำลังเพิ่มการใช้เงินคืนภาษีและเงินอุดหนุน "ที่ซ่อนอยู่" อื่นๆ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจเชิงกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้บริษัทเหล่านี้ได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดโลก
เงินคืนภาษีประจำปีทั้งหมดของจีนสำหรับบริษัทใหญ่ๆ ในแผ่นดินใหญ่เพิ่มขึ้นถึง 400% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปี 2023 ส่งผลให้การส่งออกไปยังสหรัฐฯ และยุโรปเพิ่มขึ้น โดยเงินคืนภาษีดังกล่าวมาพร้อมกับเงินอุดหนุนโดยตรงจำนวนมากที่รัฐบาลจีนซึ่งนำโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจัดสรรให้กับอุตสาหกรรมหลัก
เมื่อปีที่แล้ว (2023) บริษัทจดทะเบียนในจีน 99% ได้รับเงินอุดหนุนโดยตรงรวม 241,100 ล้านหยวน หรือกว่า 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงเงินอุดหนุนที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา โดยเงินอุดหนุนสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์เพียงอย่างเดียวเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ปักกิ่งวางแผนที่จะลงทุนอีกกว่า 6 พันล้านหยวนในโครงการที่นำโดยรัฐบาลเพื่อพัฒนาแบตเตอรี่โซลิดสเตต (Soild State) ที่ใช้อิเล็กโทรไลต์ในรูปแบบของแข็ง รวมถึงยังควบคุมการไหลของกระแสไฟฟ้าโดยไม่ต้องใช้หม้อแปลงไฟฟ้า
อีกด้านหนึ่ง เพื่อปกป้องตลาดในประเทศจากการนำเข้าของจีนที่ไหลเข้ามา สหรัฐฯ และประเทศในยุโรปก็กำลังขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ซึ่งผู้กำหนดนโยบายและผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ตั้งคำถามว่า การสนับสนุนทางการเงินโดยตรงและโดยอ้อมของจีนสำหรับอุตสาหกรรมหลักกำลังบิดเบือนกลไกในการแข่งขันระดับโลกหรือไม่
โดยทั่วไปแล้ว บริษัทใหญ่ของจีนจะได้รับส่วนลดมากกว่าเงินอุดหนุนโดยตรง ซึ่งแนวโน้มนี้เร่งตัวขึ้นจนถึงปี 2022 เมื่อส่วนลดถึงจุดสูงสุดเนื่องจากนโยบายปลอดโควิดของจีนและเศรษฐกิจชะลอตัวตาม ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลโดย Shanghai DZH แม้ว่ามูลค่าของส่วนลดจะลดลงเมื่อปีที่แล้ว (2023) แต่เงินคืนภาษียังคงสูงกว่าเงินอุดหนุน ขณะที่ส่วนลดส่วนใหญ่มาจากเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ผู้ส่งออกจะได้รับเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่จ่ายสำหรับวัตถุดิบและส่วนประกอบที่ซื้อเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ของตน
การขอเงินคืนภาษีดังกล่าวไม่ได้เป็นปัญหาโดยเนื้อแท้ ตราบใดที่เงินคืนภาษีเพิ่มขึ้นตามการส่งออกหรือสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของภาษีและระบบอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของ DZH แสดงให้เห็นว่าการลดหย่อนภาษีประจำปีของจีนเพิ่มขึ้นถึงห้าเท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่การส่งออกกลับเติบโตขึ้นเพียง 50% ช่องว่างนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนสงสัยว่าบางส่วนเป็นเงินอุดหนุนที่ซ่อนอยู่หรือไม่
ขณะเดียวกัน จีนมักจะปรับอัตราการลดหย่อนภาษีสำหรับการส่งออก และเสนอแรงจูงใจทางภาษีอื่นๆ สำหรับการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาและภาคส่วนเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวยังทำให้ปักกิ่งถูกจับตาว่า ปักกิ่งกำลังบิดเบือนระบบภาษีเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมหลัก
ส่วนบริษัทในอุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์ของจีน ก็ได้รับการลดหย่อนภาษีจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น BOE Technology Group ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดแผง LCD ทั่วโลก ได้รับเงินคืนภาษีรวม 60,000 ล้านหยวนในช่วงห้าปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ บริษัท BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและบริษัท Semiconductor Manufacturing International Corp. ผู้ผลิตชิป ยังได้รับเงินคืนภาษีจำนวนมากอีกด้วย โดย BYD ได้รับเงินคืนภาษีรวม 37,100 ล้านหยวนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เกือบ 4 เท่าของเงินอุดหนุน 9,300 ล้านหยวนที่ได้รับ พร้อมๆ กับที่ BYD ยังได้รับเงินกู้ระยะยาวจากธนาคารในอัตราดอกเบี้ยระหว่าง 2.05% ถึง 2.98% ซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินกู้ชั้นดี 1 ปีที่ 3.35% ตามเอกสารที่บริษัทยื่นต่อองค์การการค้าโลก หรือ WTO
ตามข้อกำหนดของ WTO ระบุว่า ห้ามประเทศสมาชิกจ่ายเงินอุดหนุนที่อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอื่น แต่ข้อตกลงการอุดหนุนไม่ได้จัดประเภทเงินคืนภาษีเป็นการอุดหนุน ช่องโหว่นี้ทำให้จีนสามารถปฏิเสธข้อร้องเรียนที่ว่านโยบายขององค์การทำให้การแข่งขันในระดับโลกบิดเบือนได้
อย่างไรก็ตาม โทชิโกะ ซาซากิ กรรมการบริษัทที่ปรึกษา PwC กล่าวว่า “ปักกิ่งพยายามอย่างชัดเจนที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์ด้วยเงินคืนภาษี”
เช่นเดียวกับที่ศูนย์การศึกษาด้านยุทธศาสตร์และระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ได้เตือนเกี่ยวกับนโยบายการอุดหนุนของจีนมาเป็นเวลานาน ซึ่งในรายงานล่าสุดระบุว่า เงินคืนภาษีและการสนับสนุนอื่นๆ แก่ธุรกิจของจีนมีมูลค่าเกิน 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2019 ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศบิดเบือนมากขึ้น
ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลปักกิ่ง บริษัทต่างๆ ของจีนจึงครองตลาดแผงโซลาร์เซลล์และแผง LCD ทั่วโลก นอกจากนี้ บริษัทเหล่านี้ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเซมิคอนดักเตอร์ ขณะที่ประเทศต่างๆ ในสหรัฐฯ และยุโรปตอบโต้ด้วยภาษีศุลกากรและมาตรการคุ้มครองอื่นๆ ซึ่งทำให้มีแนวโน้มว่า โลกกำลังเข้าสู่สงครามเย็นทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ
IMCT News
ที่มา https://asia.nikkei.com/Spotlight/Datawatch/China-s-hidden-subsidies-fuel-export-onslaught