อาเซียนไม่ไว้วางใจแนวคิด 'นาโตแห่งเอเชีย' ของ 'อิชิบะ'
ขอบคุณภาพจาก Global Times
14/10/2024
หลังสิ้นสุดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่นครหลวงเวียงจันทน์ของลาว ดูเหมือนว่าวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น ชิเงรุ อิชิบะ ที่เดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกของเขาในฐานะผู้นำญ๊่ปุ่น ต่อแนวคิดกรอบความมั่นคงแบบนาโตในเอเชียไม่ได้รับการตอบรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางความกังวลว่าอาจก่อให้เกิดความแตกแยกภายในอาเซียนมากขึ้นเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับจีน
“ผมไม่ได้ตั้งใจจะพูดถึงเรื่องนี้” อิชิบะระบุก่อนเดินทางไปยังการประชุมสุดยอดที่นครหลวงเวียงจันทน์ แต่กล่าวว่าการหารือเกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าวในพรรค LDP จะยังคงดำเนินต่อไป
อาเซียนเปิดประตูต้อนรับหุ้นส่วนนอกภูมิภาคระหว่างการประชุมสุดยอดประจำปี โดยเชิญประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งฟอรั่มการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่กว้างกว่านั้นยังครอบคลุมถึงอินเดีย ออสเตรเลีย และรัสเซียด้วย
ส่วนแนวคิดเรื่องความเป็นศูนย์กลางเพื่อหลีกเลี่ยงการตกไปอยู่ในค่ายภูมิรัฐศาสตร์ใดค่ายหนึ่ง รวมถึงความสามัคคี เป็นองค์ประกอบหลักของนโยบายต่างประเทศของกลุ่ม ซึ่งนาโตแห่งเอเชียอาจสั่นคลอนหลักการเหล่านั้น
“เราเป็นอาเซียนอยู่แล้ว เราไม่ต้องการนาโตในอาเซียน” โมฮัมหมัด ฮาซัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียระบุกับผู้สื่อข่าว
ขณะเดียวกัน อินเดียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มความมั่นคง Quad ร่วมกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ก็ระบุเช่นกันว่าไม่สนับสนุนแนวคิดของอิชิบะ
“เราไม่เคยเป็นพันธมิตรตามสนธิสัญญาของประเทศใดๆ เราไม่มีโครงสร้างเชิงยุทธศาสตร์แบบนั้นในใจ” สุพราหมัณยัม ชัยศังการ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินเดียกล่าวก่อนหน้านี้
ในช่วงสงครามเย็น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศสได้จัดตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) ขึ้นในปี 1954 โดยมีประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยและฟิลิปปินส์เป็นแนวป้องกันการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่สุดท้ายแล้ว องค์การได้แตกแยกกันในช่วงสงครามเวียดนาม ก่อนยุติลงในปี 1977 ขณะที่ปัจจุบัน ประเทศในเอเชียหลายประเทศเกรงว่า จะถูกดึงเข้าไปในความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์เบนจามิน โฮ จากโครงการจีนที่ S. Rajaratnam School of International Studies ในสิงคโปร์มองว่า ผู้นำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “จะยินดีหากญี่ปุ่นมีบทบาทมากขึ้นในประเด็นด้านความมั่นคงในภูมิภาค แต่แนวคิดเรื่องนาโตแห่งเอเชียไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาจะสนับสนุน” โดย “ผมสงสัยว่าผู้นำของประเทศ [เอเชียตะวันออกเฉียงใต้] ประเทศใดจะประกาศชัดเจนว่าสนับสนุนนาโตแห่งเอเชีย” ซึ่งหากสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากสหรัฐอเมริกา
ขณะเดียวกัน แม้แต่ในฟิลิปปินส์ ซึ่งเคยปะทะกับจีนในทะเลจีนใต้หลายครั้ง และมองว่าปักกิ่งเป็นภัยคุกคาม ก็ยังมีมุมมองจากผู้สังเกตการณ์ว่า แนวคิดนี้ไม่สมจริง
“ประเทศในเอเชียต้องยอมรับความเสี่ยงในกรณีนี้ พวกเขาต้องการลงทุนทรัพยากรกับนาโตของเอเชียมากเพียงใด” จูลิโอ อามาดอร์ ซีอีโอของ Amador Research Services กล่าว “เพราะมีคำถามว่าใครคือเป้าหมายขององค์กรนี้ เพราะไม่สามารถจัดตั้งนาโตโดยไม่มีเหตุผลได้”
IMCT News