ผู้นำโลกร่วมยินดี ‘ทรัมป์’ คว้าชัยเลือกตั้งสหรัฐฯ
7/11/2024
ผู้นำโลกแสดงความยินดีกับ โดนัลด์ ทรัมป์ หลังกุมชัยชนะสู่การเป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ผ่านพ้นไปในวันอังคาร
ทรัมป์ เอาชนะรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต สร้างประวัติศาสตร์ให้กับเขาในการเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันสมัยใหม่ ที่หวนคืนสู่ทำเนียบขาวได้สำเร็จหลังว่างเว้นไปเป็นเวลา 4 ปีก่อนหน้านี้
ผู้นำโลกทยอยโพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ X แสดงความยินดีกับทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งมีนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) ที่กระทบต่อความสัมพันธ์กับพันธมิตรและคู่ขัดแย้งของอเมริกา ในช่วงการดำรงตำแหน่งผู้นำทำเนียบขาวสมัยแรก
เริ่มที่นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู ที่เป็นพันธมิตรอเมริกาประเทศแรก ๆ ที่ส่งข้อความสนับสนุน และยกย่อง “การกลับมาครั้งประวัติศาสตร์” ของทรัมป์ ซึ่งได้มอบ “ความมุ่งมั่นอันทรงพลังต่อความเป็นพันธมิตรอันยิ่งใหญ่ระหว่างอิสราเอลและอเมริกา”
ด้านประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ซึ่งออกมาเรียกร้องให้สหรัฐฯ และชาติตะวันตกส่งความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นในการต่อสู้กับการรุกรานของรัสเซีย ได้กล่าวว่า ความมุ่งมั่นของทรัมป์ในการ ‘สร้างสันติภาพผ่านความเข้มแข็ง’ ในกิจการโลก และว่า “นี่คือหลักการที่สามารถนำสันติภาพมาสู่ยูเครนได้”
มาร์ค รุตเทอ เลขาธิการองค์การนาโต้ พันธมิตรการทหารชาติตะวันตกที่ทรัมป์เคยวิจารณ์มาตลอดว่าไม่เข้าจัดการด้านกลาโหมในยุโรปมากพอนั้น ได้แสดงความยินดีต่อทรัมป์ด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า “ความเป็นผู้นำของเขา(ทรัมป์)จะเป็นกุญแจในการทำให้พันธมิตรของเราเข้มแข็งอีกครั้ง ผมตั้งตารอคอยที่จะทำงานร่วมกับเขาอีกครั้งในการเดินหน้าสร้างสันติภาพด้วยความเข้มแข็งในองค์การนาโต้”
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาคร็อง แห่งฝรั่งเศส ได้แสดงความยินดีต่อทรัมป์เช่นกัน โดยกล่าวว่าตน “พร้อมทำงานร่วมกันเหมือนที่เคยเป็นมาถึง 4 ปี ... ด้วยความเชื่อมั่นของคุณและผม”
นายกรัฐมนตรีอังกฤษเคียร์ สตาร์เมอร์ กล่าวว่ารัฐบาลของตนจะยืนหยัด “เคียงบ่าเคียงไหล่” ในการปกป้องคุณค่าของเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความมุ่งมั่นที่มีร่วมกัน “ตั้งแต่การเติบโตและความมั่นคง ไปจนถึงด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ผมรู้ว่าความสัมพันธ์อันพิเศษระหว่างอังกฤษและสหรัฐฯ จะยังคงเติบโตในทั้งสองฝั่งของแอตแลนติกในอีกหลายปีต่อจากนี้”
ด้านเออร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป แสดงความยินดีกับทรัมป์ และยกย่อง “ความเป็นหุ้นส่วนที่แท้จริง” ระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ แม้ว่าในยุคทรัมป์สมัยแรกนั้น จะมีความบาดหมางระหว่างอียูและสหรัฐเกิดขึ้น และส่วนหนึ่งมาจากการบังคับใช้มาตรการกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรปก็ตาม
ฝั่งนายกรัฐมนตรีฮังการี วิกเตอร์ ออร์บาน พันธมิตรสายอนุรักษ์นิยมของทรัมป์ เรียกชัยชนะของอดีตผู้นำสหรัฐฯ รายนี้ว่าเป็น “การกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน” และว่าเป็น “ชัยชนะที่ต้องการอย่างยิ่ง” บนโลกนี้
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ยังไม่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ แต่ในสื่อสังคมออนไลน์ X อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย ดมิทรี เมดเวเดฟ แสดงความพอใจกับความปราชัยของแฮร์ริส โดยโพสต์ว่า “คามาลาจบแล้ว ... ปล่อยให้เธอหัวเราะเยาะต่อไป”
นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย แอนโธนี อัลบาเนซี กล่าวว่า “ชาวออสเตรเลียและอเมริกันเป็นมิตรที่ดีและพันธมิตรที่แท้จริง”
ส่วนนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี แสดงความยินดีกับทรัมป์ ผู้ที่โมดีเรียกว่าเป็นเพื่อนของเขาว่า “ระหว่างที่คุณกำลังต่อยอดความสำเร็จจากวาระก่อนหน้า ผมรอคอยที่จะทบทวนความร่วมมือในการเสริมสร้างความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อินเดียที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น”
ประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์ แห่งฟิลิปปินส์ ได้ระบุในแถลงการณ์ แสดงความหวังว่า “ความเป็นพันธมิตรที่ไม่มีวันสั่นคลอน” ระหว่างรัฐบาลวอชิงตันและรัฐบาลมะนิลา “จะเป็นขุมพลังที่จะจุดประกายเส้นทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองและมิตรภาพในภูมิภาคและทั้งสองฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก”
ปิดท้ายที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย โพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ X ว่า “ดิฉันขอแสดงความยินดีกับท่านประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และ สว. เจดี แวนซ์ สำหรับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดิฉันพร้อมทำงานร่วมกับท่าน ในการส่งเสริมความเป็นพันธมิตรระหว่างไทย-สหรัฐฯ ที่มีมาอย่างยาวนานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ที่มา วีโอเอ