ขอบคุณภาพจาก Asian Power
26/10/2024
โครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน ถูกมองว่าจะมีประโยชน์มากมายสำหรับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค นอกเหนือจากการผลิตไฟฟ้าสีเขียว เช่น การสร้างงานใหม่ การลดมลภาวะทางอากาศ และการลงทุนที่สำคัญสำหรับภาคพลังงานในภูมิภาคอาเซียนเอง
ดร.แดเนียล แกสปาร์ รองผู้อำนวยการ Net Zero World Initiative ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ระบุระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ในงาน Singapore International Energy Week เกี่ยวกับผลการศึกษาความเป็นไปได้ระหว่างสหรัฐฯ และสิงคโปร์เกี่ยวกับการเชื่อมโยงพลังงานในภูมิภาค โดยสรุปว่าการเชื่อมโยงดังกล่าวจะมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากสำหรับภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการลงทุนมูลค่า 2.6 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีสำหรับการวิจัยและพัฒนา และ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการสร้างกำลังการผลิตไฟฟ้าในภาพรวม
ดร.แกสปาร์ตั้งข้อสังเกตว่า การเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายไฟฟ้าภูมิภาคอาเซียนที่เชื่อมโยงกันจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของแต่ละประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 0.8-4.6%
ขณะที่การศึกษาด้านความเชื่อมโยงในภูมิภาคระหว่างสหรัฐฯ และสิงคโปร์ ซึ่งเริ่มต้นในเดือนเมษายนปีที่แล้ว (2023) ได้ตรวจสอบภูมิทัศน์ของพลังงานหมุนเวียนและโครงสร้างพื้นฐานของโครงข่ายไฟฟ้าที่มีอยู่ของอาเซียน รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากความเชื่อมโยงในภูมิภาคแล้วเช่นกัน
สำหรับโครงการ Net Zero World Initiative ซึ่งเปิดตัวในปี 2021 เป็นความร่วมมือใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ ที่ต้องการดำเนินการตามคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์
ขณะเดียวกัน โครงข่ายไฟฟ้าอาเซียนใช้เวลาดำเนินการมานานหลายทศวรรษ ก่อนจะมีความคืบหน้าอย่างแท้จริง ด้วยการเปิดตัวโครงการนำร่องการนำเข้าไฟฟ้าลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ในปี 2022 ซึ่งเป็นโครงการนำทางสำหรับโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน ที่กำลังส่งไฟฟ้าพลังงานน้ำ 100 เมกะวัตต์จากลาวไปยังสิงคโปร์ ผ่านมาเลเซียและไทย ต่อมาได้มีการขยายโครงการให้รวมถึงอีก 100 เมกะวัตต์จากโครงข่ายไฟฟ้าของมาเลเซียในเดือนตุลาคมนี้ (2024) หลังจากความคืบหน้าในระยะที่สองหยุดชะงัก อย่างไรก็ตาม ไฟฟ้าจะรวมถึงแหล่งผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน เช่น ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติด้วย
การที่ประเทศต่างๆ สามารถแลกเปลี่ยนไฟฟ้ากันได้อย่างเสรีผ่านโครงข่ายไฟฟ้าระดับภูมิภาคจะช่วยให้สามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้ พร้อมทั้งยังมั่นใจในความมั่นคงด้านพลังงานได้ จากการที่โครงข่ายไฟฟ้าดังกล่าวจะช่วยป้องกันการหยุดชะงักของพลังงานหมุนเวียน โดยการกระจายพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อีกด้านหนึ่ง ดร.แกสปาร์ตั้งข้อสังเกตว่า ประชากรประมาณ 99% ของภูมิภาคจะได้รับประโยชน์จากการที่มลพิษทางอากาศลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากมลพิษน้อยลง 15,000 รายต่อปี จากการที่สาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศในภูมิภาคเกิดจากการใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งปล่อยคาร์บอนในปริมาณมาก และเป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ โดยเฉพาะในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
จากการศึกษาพบว่า การเชื่อมโยงกันในระดับภูมิภาคที่มากขึ้นยังจะช่วยสร้างงานได้จำนวนมาก โดยอาจสร้างงานได้อย่างน้อย 2,000 ถึง 9,000 ตำแหน่งต่อปีในภูมิภาค ในภาคการผลิตพลังงานหมุนเวียน ซึ่งรวมถึงสายเคเบิลและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
“สิ่งเหล่านี้ต้องการคุณสมบัติที่หลากหลาย และจะสร้างงานที่มีคุณภาพสูงในทุกระดับการศึกษาในภูมิภาค” ดร.แกสปาร์กล่าว
ขณะเดียวกัน การศึกษานี้ยังพิจารณาถึงต้นทุนการลงทุนล่วงหน้าโดยประมาณในการวางสายเคเบิลใต้น้ำที่จะเชื่อมต่อภูมิภาค ซึ่งช่วยให้สามารถส่ง “พลังงานหมุนเวียนจำนวนมาก” ระหว่างประเทศได้ ซึ่ง ดร.แกสปาร์กล่าวว่า การสร้างสายเคเบิลใต้น้ำเป็นระยะทางยาวอาจมีค่าใช้จ่ายหลายพันล้านดอลลาร์ จะกลายเป็นสิ่งที่เอื้อมถึงได้เมื่อแบ่งปันกันในภูมิภาค
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (22 ต.ค.) สิงคโปร์ได้อนุมัติแบบมีเงื่อนไขในการนำเข้าพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 1.75 กิกะวัตต์จาก Sun Cable ซึ่งพลังงานดังกล่าวจะส่งผ่านสายเคเบิลใต้น้ำยาว 4,300 กิโลเมตร คาดว่าต้นทุนในการสร้างจะอยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการศึกษาระยะที่สอง ดร.แกสปาร์ระบุว่า จะพิจารณาถึงกรอบการกำกับดูแลว่าโครงข่ายไฟฟ้าจะสามารถสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศได้อย่างไร ท่ามกลางการที่สิงคโปร์ได้ให้คำมั่นว่าจะนำเข้าไฟฟ้าสะอาด 7.35 กิกะวัตต์จากกัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย
ส่วนคำถามที่ว่า Energy Market Authority (EMA) ของสิงคโปร์มีแผนงานใด ๆ เพื่อผลักดันการเชื่อมโยงในภูมิภาคหรือไม่ Puah Kok Keong ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ EMA กล่าวว่าจำเป็นต้องมีต้นทุนการลงทุนล่วงหน้าที่สูงสำหรับโครงการนำเข้าพลังงานดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ และที่จัดเก็บแบตเตอรี่ เพื่อรับประกันการจ่ายไฟฟ้าที่เสถียร ซึ่งจะต้องใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์ในการติดตั้ง ซึ่งผู้พัฒนาโครงการจะได้รับใบอนุญาตนำเข้าเป็นเวลา 30 ปีจาก EMA โดยคำนึงถึงเงินทุนจำนวนมากที่จำเป็นในการเริ่มต้นโครงการและเวลาที่จำเป็นสำหรับบริษัทในการคืนทุนในที่สุด
ขณะที่นาย Eka Satria ประธานผู้อำนวยการของบริษัทผลิตไฟฟ้า Medco Power Indonesia มองว่า การค้าไฟฟ้าข้ามพรมแดนดังกล่าวเป็นผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากช่วยขยายภาคการส่งออก และดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้ในเวลาเดียวกัน
IMCT News